วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 5
ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์ ศาสนาและความเชื่อคริสตชน

1. ธรรมชาติและปัญหาเรื่องความสัมพันธ์

กำเนิดและพัฒนาการของการแสวงหาความจริงของมนุษย์ เราสามารถแบ่งเป็นศาสตร์สำคัญ ๆ ได้สามสาย ได้แก่ ปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยมีหลักการเกี่ยวกับแต่ละศาสตร์ว่า

1.1 แม้ว่าแต่ละศาสตร์ต่างมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การแสวงหาความจริง แต่เป็นการมุ่งสู่ความจริง ในมิติที่ต่างกัน (ปรัชญาเน้นด้านคุณค่า/ความหมายของความจริง ศาสนาเน้นความจริงเพื่อมุ่งสู่ความรอดพ้น วิทยาศาสตร์เน้นความจริงด้านปริมาณ /คุณลักษณะ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน)

1.2 แต่ละศาสตร์จึงมีคำถามต่อความจริงตามรูปแบบ/ธรรมชาติของตน กล่าวคือ แต่ละศาสตร์ต่างมีวิธีการ และมาตรการ มุ่งสู่ความจริงตามรูปแบบของตน กล่าวคือ

1.2.1 ปรัชญา ให้ความสำคัญต่อการเข้าใจความจริง ด้วยการใช้เหตุผล โดยมีพื้นฐานว่ามนุษย์มีสติปัญญา ที่สามารถเข้าใจความจริง

1.2.2 ศาสนา ให้ความสำคัญต่อการเผยแสดง/การหยั่งรู้ ที่มนุษย์ได้รับจากความเป็นจริงสูงสุด (ศาสนาแนวเทวนิยม) หรือการที่มนุษย์บำเพ็ญตนจนบรรลุถึงความจริง (ศาสนาแนวอเทวนิยม) โดยมีพื้นฐานบนความเชื่อศรัทธาต่อความเป็นจริงสูงสุดหรือต่อคำสอน/วิธีการขององค์ศาสดา

1.2.3 วิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญต่อความจริงที่นำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน เพื่อการควบคุมและทำนายผลที่จะเกิดขึ้น บนประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส ได้แก่ การกำหนดปัญหา การตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูล การแยกประเภทและการวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินผลและการนำไปใช้

1.3 แต่ละศาสตร์ต่างยืนยันว่าข้อมูลที่ตนได้รับ เป็นหนทางสู่การบรรลุถึงความจริงอัน เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ตอบสนองธรรมชาติในศาสตร์ของตน

1.4 ปัญหา มีการล่วงล้ำการแสวงหาความจริงเกินมิติในกรอบของแต่ละศาสตร์ รวมถึงการนำวิธีการและมาตรการในศาสตร์ของตนไปใช้กับศาสตร์อื่น เช่น ปรัชญาเห็นว่าศาสนา ไม่ค่อยมีเหตุมีผล มีแต่ความเชื่อ ศาสนาเห็นว่าปรัชญาเน้นแต่เหตุผล จะได้ความจริงทั้งครบได้อย่างไร วิทยาศาสตร์เห็นว่าสามารถนำมาแทนที่ศาสนาและปรัชญาได้ เป็นต้น

จึงต้องมีการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของศาสตร์ต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่ละศาสตร์ควรมีท่าทีอย่างไร เพื่อว่าแต่ละศาสตร์จะได้ไม่นำมาซึ่งความสับสน ความขัดแย้งในการแสวงหาความจริงของมนุษย์ แต่ตรงกันข้าม ให้แต่ละศาสตร์มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อตอบสนองความต้องการแสวงหาความจริงของมนุษย์

2. ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างมีธรรมชาติของตน วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา เพราะว่ามันเจาะจงศึกษาความจริงเพื่อนำไปใช้สู่ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่คำถามที่เป็นปัญหาของปรัชญา (ความจริงคืออะไร? รู้ได้อย่างไร? ฯลฯ) โดยตรง วิทยาศาสตร์สนใจทำการศึกษาค้นคว้าทดลองตามหลักการของตน เพื่อตอบปัญหาในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนใจ

2.1 ความหมายและคุณลักษณะของวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ถือกำเนิดจากความต้องการความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากความรู้เดิม โดยมีหลักการว่า สิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถรู้ เข้าใจและอธิบายได้ แต่เดิมวิทยาศาสตร์แฝงตัวอยู่ในปรัชญา และค่อยๆ แยกตัวออกมาโดยกำหนดบริบทของตนในการแสวงหาความรู้โดยใช้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความจริง ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาปรากฏการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการตั้งสมมติฐาน เพื่อทดสอบหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอคติหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน ในแง่นี้เราจึงบอกได้ว่าความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เป็นสากล

2.1.1 ความหมายของวิทยาศาสตร์

เราให้นิยามความหมายบางประการของวิทยาศาสตร์ได้ว่า

ก. หมายถึงกระบวนการคิดค้นความจริงอย่างเป็นระบบ
ข. หมายถึง องค์ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และความจริง อาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาประมวลความรู้เพื่อให้ชนรุ่นหลังศึกษาค้นคว้า (ต่อยอด) และการนำไปประยุกต์ใช้อำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ค. ฯลฯ

จากความหมายบางประการที่ยกมาข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์เป็น “องค์ความรู้สากล” ที่เป็นระบบ เป็นสากลและสามารถพิสูจน์ผลได้แน่นอนตายตัว โดยไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม บุคคล เวลาและสถานที่

2.1.2 บทบาท (คุณค่า) ของวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นกระบวนการค้นคว้าหาความจริง มีบทบาทหน้าที่สำคัญสองประการ คือ

ก. การอธิบายปัญหาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ (สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร)

ข. การคาดการณ์สิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามีเหตุปัจจัยแบบนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างนั้น)

2.1.3 ลักษณะของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์

ก. มีความเป็นสากล (Universality) กล่าวคือ ได้รับการยอมรับทั่วไป เป็นความจริงที่ได้ไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม บุคคล เวลาหรือสถานที่

ข. มีความเป็นปรนัย (Objectivity ) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่เป็นหลักการโดยไม่ขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละคน

ค. มีความแน่นอน (Consistency) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่แน่นอน ตายตัว ผลการค้นคว้ามีลักษณะเป็นเอกภาพในทุกมุมโลก

ง. ความสมเหตุสมผล (Verificability) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่จะต้องมีผลลัพธ์ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีเหตุปัจจัยทำนองเดียวกัน

2.1.4 กระบวนการความรู้เชิงวิทยาศาสตร์
มีลำดับ 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

ก. การกำหนดปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะรู้เกี่ยวกับความจริง
ข. การตั้งสมมติฐาน หรือความเป็นไปได้ที่สิ่งนั้นจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ค. การรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
ง. การแยกประเภทและการวิเคราะห์ข้อมูล
จ. การประเมินผลและการนำไปใช้

2.2 ความเหมือนและความต่างของปรัชญากับวิทยาศาสตร์

ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ต่างมีพื้นฐานบนความจริงที่มนุษย์ตั้งคำถามและพยามศึกษาหาคำตอบในประเด็น/โจทย์ที่สอดคล้องกับบริบทตามธรรมชาติของตน โดยสรุปภาพรวมได้ดังนี้

2.2.1 ในฐานะที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ ย่อมมีจุดหมาย คือ การแสวงหาความจริง อันเป็นคุณลักษณะโดยทั่วไปของทุกศาสตร์ แต่ความจริงที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์มุ่งตอบนี้มีรายละเอียดด้านคำถาม และวิธีการตอบที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

ก. ในขณะที่ปรัชญาตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร รู้ได้อย่างไรและเอาอะไรมาตัดสินความจริง?” (What/Why to be) อันเป็นคำถามที่พิจารณาถึงคุณค่าและความหมายของความจริง โดยยึดสิ่งนั้น (Object) เป็นศูนย์กลาง โดยไม่ใส่ใจว่าความจริงของสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตหรือไม่ ในขณะที่วิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่า “ความจริงเป็นอย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร” (How to be) อันเป็นคำถามที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการตั้งและตอบคำถาม (Subject) วิทยาศาสตร์จึงสนใจคำตอบในรายละเอียดของสิ่งนั้น เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน/อนาคต (ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต)

ข. ปรัชญาจะเน้นการแสวงหาความจริงโดยอาศัยสติปัญญา ตามหลักเหตุ-ผล (ใช้ตรรกวิทยาเป็นเครื่องมือ มุ่งสู่มโนภาพ/สากลของสิ่งนั้น) ในขณะที่วิทยาศาสตร์เน้นประสบการณ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ในระดับประสาทสัมผัส เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพื่อควบคุมหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น

2.2.2 ความรู้ด้านปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ต่างสะท้อนถึงคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ ในฐานะเป็นผู้มีสติปัญญา พยายามศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับความจริง แต่สิ่งที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ใส่ใจมีรายละเอียดต่างกัน กล่าวคือ

ก. ปรัชญาเน้นการตั้งคำถามและตอบตามเหตุ-ผล นำสู่หลักการ
และแนวทางการดำเนินชีวิต คำตอบจึงยังไม่ขีดเส้นตายสิ้นสุด แต่ยังมีคำตอบที่สามารถโต้แย้งได้ไม่สิ้นสุด ในขณะที่วิทยาศาสตร์จะพิจารณาคำถาม และตอบให้จบเป็นประเด็น ๆ ไป คำตอบที่ได้รับมีลักษณะเป็นสากล

ข. ปรัชญาสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นอะไรมากกว่ากฎเกณฑ์หรือหลักการที่ตายตัว ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ทั้งหมด เพราะมนุษย์มีสติปัญญา มีความสำนึก มีเสรีภาพที่สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตน ในขณะที่วิทยาศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของมนุษย์ที่ยังคงมีความต้องการในระดับประสาทสัมผัส ที่จำเป็นต้องได้รับการสนองความต้องการ

2.3 สรุป : ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์

ในฐานะที่ปรัชญาเป็น “ศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย” (ก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร) เราจึงพอจะมองเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ปรัชญาเป็นเหมือนกับ “มารดา” ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นดัง “บุตร” วิทยาศาสตร์เป็นการต่อยอดความรู้ความจริงของมนุษย์ เพื่อการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

3. ความสัมพันธ์ของปรัชญากับศาสนา

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างปรัชญาและศาสนา แม้ว่าบางครั้งจะมีการถกเถียง โต้แย้งความรู้ของกันและกัน ในขณะเดียวกัน เราพบถึงความเกื้อหนุนเกื้อกูลกันและกันระหว่างปรัชญาและศาสนา จนบางครั้งแทบจะแยกจากกันไม่ออก

3.1 ความหมายและคุณค่าของศาสนา

ศาสนศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและหลักธรรมคำสอนของศาสนาโดยกำหนดบทบาทและขอบเขตของศาสนาในฐานะเป็นศาสตร์หนึ่งของมนุษย์ ที่มีจุดหมายคือ “วิถีสู่การบรรลุถึงความจริงสูงสุด” หรือ ความรอดพ้นนั่นเอง

3.1.1 ความหมายของศาสนา “เน้นมุ่งสู่อะไร”

ก. นิยามของศาสนา มีหลากหลายแนวความคิด เช่น

1) ศาสนา คือ วิถีชีวิต (Way of life) ที่ประกอบด้วยความเชื่อและเหตุผล ที่มุ่งสู่ความจริงเพื่อความรอดพ้น จึงมีลักษณะ “เน้นวิถีสู่ความรอดพ้น” (เดือน คำดี, 2545: 8)
2) ศาสนาเป็นระบบความเชื่อที่พัฒนาให้มีเหตุผลมากขึ้น (สมภาร พรมทา: 2546:40)
3) ศาสนาเป็นเรื่องของศีลธรรมบ้าง เป็นเรื่องของความรู้สึกบ้าง เป็นเรื่องของการเน้นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับให้ปฏิบัติบ้าง (Edwards, 1972: 42-61)

ข. แม้นิยามของคำว่า “ศาสนา” จะมีหลากหลาย แต่สิ่งที่เราควรใส่ใจคือ แก่นแท้ของศาสนา คือ การมุ่งสู่ความรอดพ้น ไม่ใช่ในระดับความคิด ความเข้าใจ แต่ศาสนาเป็นเรื่องระดับจิตใจที่มนุษย์มีความปรารถนาที่จะบรรลุความบรมสุขเที่ยงแท้ ถาวร นิรันดร “ความเชื่อทื่อ ๆ อย่างเดียวไม่เคยช่วยให้เราเกิดความซาบซึ้งในอะไรได้” (สมภาร พรมทา, 2546: 17) แต่ต้องอาศัยการไตร่ตรองเนื้อหาคำสอนด้วยจิตใจอย่างลึกซึ้งและนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน

3.1.2 คุณค่าของศาสนา คือ “คำตอบของชีวิต”

สิ่งที่ศาสนาสนใจคือ “จิตใจ” ที่ลึกลับซับซ้อนในตัวมนุษย์ ศาสนาสอนว่าชีวิตมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง แต่ชีวิตนั้นจะมีคุณค่าเมื่อไปเชื่อมโยงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้แต่ละศาสนาสอนไม่เหมือนกัน บางศาสนาสอนว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นคือ พระเจ้า บ้างก็สอนว่าเป็นนิพพาน แต่ในความหมายรวม ๆ หมายถึง ภาวะที่ยิ่งใหญ่เกินขอบเขตโลกแห่งผัสสะ (Transcendent) ศาสนาทั้งหลายแม้จะสอนต่างกันแต่จุดเน้นเหมือนกัน คือ สอนให้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของ “ความจริงสูงสุด” เป็นนิรันดรภาพ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางแท้จริงของชีวิต ศาสนาจึงเน้นเรื่องความเชื่อศรัทธาแห่งจิตใจที่พัฒนาอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง เป็นสถาบันที่สำคัญอันหนึ่งของสังคมมนุษยชาติ

ก. ในฐานะที่ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อศรัทธาแห่งจิตใจ ศาสนาจึงมีคุณค่าในฐานะเป็นหลัก หรือแนวทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ข. ในฐานะที่ศาสนาเป็นสถาบัน ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อสังคม จารีตประเพณี วัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งกฎหมาย

นักปรัชญาหลายท่านไม่เห็นด้วยที่มองศาสนาในแง่สถาบัน เพราะทำให้มนุษย์ยึดติดแต่ “เปลือก” จนลืม “แก่นสาระ” ของศาสนา ทำให้มนุษย์ยึดติดแต่เพียงกรอบ หรือการปฏิบัติตามตัวบทกฎเกณฑ์ จนลืมไปว่าศาสนามีบทบาทในฐานะเป็นคำตอบชีวิต ที่เป็นหลักหรือแนวทางเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตเพื่อมุ่งสู่ความจริงสูงสุด อันเป็นเป้าหมายชีวิตอย่างแท้จริง

จึงสรุปได้ว่า คุณค่าของศาสนาคือ คำตอบของชีวิตที่ช่วยให้มนุษย์สำนึกตนเองว่า ชีวิตยังมีคุณค่าและความหมาย แม้ภาวะในปัจจุบันอาจเต็มด้วยความทุกข์ ความเจ็บปวด แต่มนุษย์มีศักยภาพภายใน อาศัยความสัมพันธ์กับภาวะที่ยิ่งใหญ่ (ความจริงสูงสุด/พระเจ้า/นิพพาน) ที่สามารถทำให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ได้

3.1.3 หลักการของศาสนา : เหตุผลและความเชื่อศรัทธา

ที่มาของความรู้ในแต่ละศาสตร์ ต่างมีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เช่น ในกรณีความรู้ทางศาสนา สิ่งที่เป็นแก่นสารของความรู้เชิงศาสนา คือ ความรู้ที่มุ่งสู่การดับทุกข์หรือความรอดพ้น สิ่งที่ศาสนาเน้นคือ ความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติตนสู่ความรอดพ้น ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกันระหว่างความรู้ ความเข้าใจในระดับสติปัญญา และลงลึกในระดับจิตใจ สู่ชีวิตที่เป็นจริงของแต่ละบุคคล

ก. เหตุผลในศาสนา : สิ่งที่ทำให้ศาสนาไม่งมงาย

แม้ว่าศาสนาจะเป็นระบบความเชื่อที่พัฒนาให้มีเหตุผลมากขึ้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารากเหง้าของศาสนาคือไสยศาสตร์ และแม้ปัจจุบัน ความเชื่อบางอย่างของศาสนายังคงแฝงไว้ในลักษณะที่คล้าย ๆ ไสยศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าศาสนาเป็นหลักหรือแนวทางสู่ความจริงสูงสุด ที่ต้องมีการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จึงมีความจำเป็นต้องมีการตีความหลักธรรมของศาสนาให้ทันยุคและเหมาะสมในแต่ละกรณี จึงต้องมีการอธิบายหลักธรรมของศาสนาให้สามารถเข้าใจได้มากขึ้นตามเหตุผล เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้นับถือศาสนาแต่ละคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตามบริบทของชีวิต

1) เนื่องจากศาสนามีทั้งส่วนที่เป็นหลักธรรมและหลักปฏิบัติที่ออกมาในรูปของระเบียบ กฎเกณฑ์ (เพื่อเป็นศาสนิกชนในศาสนานั้น ๆ คุณต้องประพฤติแบบนี้...) แต่ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่มนุษย์มีสติปัญญา มนุษย์ย่อมตั้งคำถามเสมอว่า หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติที่ศาสนาระบุให้ทำนั้น “เราทำไปทำไม?”

2) หลักธรรมและหลักปฏิบัติของศาสนา มีลักษณะเป็นหลักการกว้าง ๆ ในขณะที่ศาสนิกชนมีบริบท มีสถานการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน ศาสนิกชนจึงจำเป็นต้องรู้ เข้าใจคุณค่าและความหมายของหลักธรรมและหลักปฏิบัติต่าง ๆ ว่ามีจุดหมายเพื่ออะไร เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคน

เหตุผลจึงเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของศาสนา เพราะถ้าศาสนาไม่มีเหตุผลหรือไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล (แม้จะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทั้งหมดก็ตาม) สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นศาสนานั้น จะเป็นเพียงแค่ไสยศาสตร์ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างไม่มีเหตุผล สะท้อนถึงการมีความเชื่อแบบตาบอด (งมงาย) ที่ประพฤติปฏิบัติแบบตาม ๆ กันไป จนมองข้ามคุณค่าและความหมายของการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา

ข. ความเชื่อศรัทธา: หลักการสำคัญของศาสนา

เนื่องจากศาสนาเป็นวิถีชีวิตที่เป็นหลักธรรมและหลักการดำเนินชีวิต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามคุณค่าและความหมายตามแนวทางและอุดมคติของแต่ละศาสนา ความรู้ในเชิงศาสนาจึงไม่ได้เป็นแบบรู้เพื่อรู้ แต่เป็นรู้เพื่อนำไปปฏิบัติสู่อุดมคติของชีวิต เพื่อกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตสู่เป้าหมายตามรูปแบบของแต่ละศาสนา หลักการสำคัญที่สุดของศาสนาจึงไม่ได้อยู่แค่ระดับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส หรือตามหลักเหตุผลที่สมเหตุสมผลแบบตรรกวิทยา เนื่องจาก

1) ความจริงในศาสนา เป็นความจริงที่ประจักษ์ด้วยใจ (Intuitive truth) ที่พิสูจน์ไม่ได้ทั้งหมดด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหรือตามหลักเหตุผลทางตรรกวิทยา ความจริงในศาสนาต้องเข้าใจผ่านจิตใจหรือมิติภายในตัวมนุษย์ที่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร

2) ความจริงในศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจที่มีความสัมพันธ์ (สัมผัส) กับความจริงสิ่งสูงสุดที่เราจำเป็นต้องปลดปล่อยตนเองไปสู่ความจริงในศาสนานั้น ๆ และเมื่อเรามีความสัมพันธ์ (สัมผัส) กับความจริงสูงสุดนั้นแล้ว เราจะพบคุณค่าและความหมายที่สวยงามของชีวิต ที่ทำให้เราพร้อมที่จะอุทิศตนสู่ความจริงสูงสุดนั้น

3) เมื่อผู้นับถือศาสนาได้เข้าสู่ความจริงในศาสนาแล้ว เขาจะสำนึกว่าสิ่ง (ภาวะ) ที่เขาได้สัมพันธ์ (สัมผัส) นั้นเป็นความจริงโดยไม่สนใจที่จะพิสูจน์อีกต่อไป

3.2 ความเหมือนและความต่างกันของปรัชญากับศาสนา

จุดเริ่มต้นและเป้าหมายของปรัชญาและศาสนามีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การมุ่งสู่ความจริงสูงสุด แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน

3.2.1 ทั้งปรัชญาและศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มักตั้งคำถามและพยายามตอบคำถาม โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายชีวิต โดย

ก. ปรัชญาสนใจปัญหาเรื่องคุณค่าและความหมาย โดยอาศัยหลักการตามหลักเหตุและผล เพื่อตอบสนองคำถามด้านสติปัญญาในการแสวงหาความจริง คำตอบเกี่ยวกับความจริงเชิงปรัชญาไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องยอมรับเป็นมติสากลของทุกคน คำตอบเชิงปรัชญาจึงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่ทุกคนต้องตอบเหมือนกัน แต่ปรัชญาสนใจ คำถาม เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์สำนึกว่าตนเองมีสติปัญญาที่คิดหาเหตุผลได้ ดำเนินชีวิตอย่างมีหลักเหตุผล

ข. ศาสนาสนใจปัญหาเกี่ยวกับความจริงเพื่อความรอดพ้น ความจริงหรือคำตอบที่ศาสนาให้จึงเป็นมติสากลของศาสนานั้น ๆ ที่เรียกร้องให้ผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ถือปฏิบัติ (ถ้าคุณจะนับถือศาสนานั้น ๆ คุณต้องเชื่อและปฏิบัติตามหลักการของศาสนานั้น ๆ) โดยศาสนาจะให้หลักประกันว่า ถ้าคุณเชื่อและปฏิบัติตามหลัก คุณได้ประสบกับความรอดพ้น

3.2.2 ทั้งปรัชญาและศาสนาต่างเรียกร้องให้มนุษย์สำนึกถึงคุณค่าและความหมายชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีสำนึกและรับผิดชอบ โดยไม่จำกัดกรอบแต่เพียงความสุขกายเท่านั้น แต่เน้นถึงความสุขใจในการพบความจริง โดย

ก. ปรัชญาเรียกร้องให้มนุษย์ใช้ศักยภาพด้านสติปัญญาเพื่อค้นหาความจริงอันเป็นคำตอบของตนเอง สิ่งที่ปรัชญาเน้นคือ คำถาม เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์รู้จักคิด ใช้สติปัญญาเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตและรับผิดชอบต่อคำตอบของตน

ข. ศาสนาเรียกร้องให้มนุษย์มุ่งสู่ความจริง ด้วยการมีความสัมพันธ์ (สัมผัส) กับความจริงสูงสุด ที่เรียกร้องให้เราออกจากตนเอง รู้จักควบคุมและบังคับตนเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันนำสู่การบรรลุถึงความจริงสูงสุดนั้น

3.3 สรุป : ความสัมพันธ์ของปรัชญากับศาสนา

ปรัชญาและศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนบางครั้งยากต่อการแยกจากกัน และในประวัติศาสตร์ ดูเหมือนว่าศาสนาจะใช้ปรัชญาเป็นเครื่องมือ (สาวใช้) ด้วยซ้ำ จนลืมไปว่าแต่ละศาสตร์ต่างมีธรรมชาติและเป้าหมายเฉพาะและวิธีการของตนในการแสวงหาความจริง ไม่ต้องแปลกใจที่พบว่ามีนักปรัชญาจำนวนมากที่พยามใช้หลักเหตุผลในการแสวงหาความจริง และได้ทุ่มเทชีวิตของตนต่อการนับถือศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน มีนักปรัชญาจำนวนมากเช่นกัน ใช้สติปัญญามุ่งสู่ความจริงตามหลักเหตุผล และตัดสินใจทิ้งศาสนา เพราะมองศาสนาว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชีวิต

ปรัชญาและศาสนาไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่ว่าเราตีกรอบของปรัชญาและศาสนาแบบไหน มองบริบทของศาสตร์ทั้งสองภายใต้พื้นฐานของอะไร รวมถึงเรามีความรู้เข้าใจต่อกรอบ/บริบทของปรัชญาและศาสนามากน้อยแค่ไหน

4. ปรัชญากับความเชื่อคริสตชน

จากประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนา พบว่ามีการนำปรัชญามาช่วยอธิบายคำสอนคริสตศาสนามานานแล้ว ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของพระศาสนจักร เห็นได้ชัดจากคำสอนของนักบุญเปาโล นักบุญออกัสติน และนักบุญโทมัส อาไควนัส ซึ่งนำปรัชญากรีกมาอธิบายคำสอนคริสตศาสนา และยังคงมีการดำเนินเรื่อยมา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ มีการพยายามทำคำสอนคริสตศาสนาให้เป็นปรัชญา จนเน้นเรื่องงานด้านวิชาการของคริสต์ศาสนามากเกินไป จนถึงกับมีการนำคำสอนคริสต์ศาสนามาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตทั่วไป จนลืมเน้นไปว่าคริสต์ศาสนามีเป้าหมายเฉพาะ ก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแบบอย่างพระเยซูคริสตเจ้า

ความสัมพันธ์ของปรัชญากับความเชื่อคริสตชน

พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ออกเอกสาร Fides et Ratio (ความเชื่อและเหตุผล) ในปี ค.ศ. 1998 ว่าพระศาสนจักรฯ ไม่มีปรัชญาอย่างเป็นทางการ หมายความว่าถึงแม้ว่าพระศาสนจักรจะใช้ปรัชญามาอธิบายคริสต์ศาสนา แต่ พระศาสนจักรย่อมไม่ยึดติดกับระบบปรัชญาลัทธิใดลัทธิหนึ่งอย่างเป็นทางการ ถึงแม้สมเด็จพระสันตะปาปาฯ บางพระองค์จะยึดปรัชญาบางระบบในการอธิบายคริสต์ศาสนาเป็นการส่วนพระองค์ก็ตาม สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทรงให้ความชัดเจนในเรื่องนี้และถือเป็นมิติใหม่ของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่สอนอย่างเป็นทางการ

4.1 ปรัชญาเป็นวิธีการหนึ่งในการเข้าใจความเชื่อคริสตชน

พระสันตะปาปาฯ ทรงแถลงว่า “ปรัชญาเป็นวิถีทางที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าถึงความจริงในพระเจ้า” (Fides et Ratio, 1998: 5) ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา พระองค์จึงทรงเชิญชวนคริสตชนที่มี ความรู้ ความสามารถว่ามีหน้าที่ต้องศึกษาค้นคว้าปรัชญาทุกคนทุกรูปแบบและร่วมมือกับนักปรัชญาทุกรูปแบบ เพื่อหาคำอธิบายคำสอนของคริสตศาสนาให้กระจ่างแจ้งกว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้น แต่พระศาสนจักรจะนำปรัชญาลัทธิใดลัทธิหนึ่งมาช่วยอธิบายคำสอนก็ได้ โดยไม่มีการผูกมัดกับแนวคิดของนักปรัชญาบุคคลใดหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่งทั้งสิ้น

4.2 ไม่มีปรัชญาทางการของพระศาสนจักร

พระสันตะปาปาฯ ทรงมีความคิดที่จะใช้ ปรัชญาช่วยทำให้รู้ถึงความจริง ตามความเข้าใจของเราเป็นการส่วนพระองค์โดยพระองค์ต้องการที่จะย้ำว่าไม่มีปรัชญาเป็นทางการของพระศาสนจักรฯ มีแต่คำสอนของพระศาสนจักรฯ ที่เราสามารถนำแนวคิดทางปรัชญาต่าง ๆ มาช่วยอธิบายคำสอนของคริสตศาสนา เป็นที่น่าสังเกตว่าพระศาสนจักรจะผูกมัดกับคำสอนคริสตศาสนา แต่ไม่ผูกมัดกับแนวคิดของระบบปรัชญาใด ๆ ทั้งสิ้น ดังในเอกสาร Fides et Ratio (1998: 5) กล่าวว่า

... พระศาสนจักรพบว่าปรัชญาเป็นวิถีทางที่ช่วยให้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ และเห็นว่าปรัชญาช่วยทำให้เข้าใจความเชื่อได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยทำให้เข้าใจความจริงในพระวรสาร...

จากแนวความคิดของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทำให้เราเห็นถึงความชัดเจนและท่าทีของพระศาสนจักรฯ ที่สนับสนุนให้มีการคิดค้นใช้เหตุผลเพื่อเข้าใจความเชื่อในคริสตศาสนามากยิ่งขึ้นโดยอาศัยปรัชญา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเน้นความสำคัญของคำสอนคริสตศาสนาในฐานะเป็น “ข่าวดีแห่งความรอดพ้น” โดยอาศัยการอธิบายตามหลักเหตุผลตามแนวปรัชญา

4.3 ความเชื่อคริสตชนมีความลึกซึ้งในเรื่องคุณค่าและความหมายชีวิต มากกว่าความรู้/เข้าใจความจริงด้วยสติปัญญามนุษย์

Sokolowski (1984) คิดว่าพระสันตะปาปาฯ ทรงย้ำความสำคัญของความเชื่อคริสตชนว่าเป็นคุณค่าลำดับแรก (Priority) ที่เชื่อมโยงกับคุณค่าและความหมายแท้จริงของชีวิตมนุษย์ สิ่งที่พระสันตะปาปาฯ ทรงย้ำคือ การมีประสบการณ์กับความเชื่อ ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ปรัชญา (เหตุผล) เป็นความคิด/เข้าใจคุณค่าและความหมายชีวิต ช่วยให้มนุษย์ตระหนักถึงความเป็นจริง แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าและความหมาย คือ การมีสัมพันธ์กับความเป็นจริงสูงสุด ตามที่ความเชื่อคริสตชนสอนไว้

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความเชื่อคริสตชนไม่ใช่ปรัชญา และไม่ได้ขึ้นกับปรัชญา แต่เป็น “ข่าวดี” (Gospel) (Byrne, 1995: 337) กำเนิดและพื้นฐานของความเชื่อคริสตชนไม่ใช่แนวคิดทางปรัชญา แต่เป็นข่าวดีที่คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงรัก และทำพันธสัญญาที่จะช่วยมนุษย์สู่ความรอดพ้น ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรฯ ได้ใช้แนวคิดทางปรัชญามาช่วยอธิบายข่าวดีดังกล่าว โดยไม่ได้ผูกมัดตนเองกับแนวคิดของใครหรือลัทธิทางปรัชญาใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระศาสนจักรผูกมัดตนเอง กับข่าวดีแห่งความรอดพ้น

5. สรุปประจำบท

ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศาสนาและความเชื่อคริสตชนย่อมมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่านักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักศาสนาและคริสตชนต่างก็เป็นมนุษย์ที่รู้จักนึกคิด มีความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่จะบรรลุถึงความสุข (สุขกาย สุขสติปัญญา สุขใจ) มนุษย์ต่างปรารถนาที่จะอิ่มอก อิ่มใจ ไม่มีใครอยากทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ทั้งนี้ อย่าลืมว่า แต่ละศาสตร์ต่างมีอัตลักษณ์ตามธรรมชาติของตน

สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศาสนาและความเชื่อคริสตชนเข้าด้วยกันคือ ตัวมนุษย์เอง เราต้องตั้งคำถามก่อนว่า “ตั้งคำถามอะไร?” และเลือก “ศาสตร์อะไร” มาตอบคำถามนั้น